"Julie"
จูลี่แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ
ชื่อ น.ส. ภรมน ฉิมตะวัน ชื่อเล่นว่า จูลี่ ค่ะ
ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์
สาขาเคมีประยุกต์(อินเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และกำลังจะเป็นบัณฑิตในอีก 4 เดือนข้างหน้าค่ะ
จูลี่เรียนที่โรงเรียนนานาชาติฮีทฟิลด์จนถึงระดับชั้นไหนคะ
จูลี่เป็นนักเรียน รุ่น 30 คนแรกของโรงเรียน
Heathfield ค่ะ
ตอนที่สอบ IGCSE เลือกสอบกี่วิชา แล้วมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไร
จูลี่สอบผ่าน IGCSE
6 วิชารอบเดียวค่ะ
เพราะจูลี่ตอนนั้นมีเวลาเตรียมตัวน้อยเลยต้องสอบรอบเดียวให้ครบ
วิธีเตรียมตัวของจูลี่อย่างแรกก็คือต้องตั้งเป้าหมายก่อนค่ะ
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และ เมื่อเรารู้ว่าเราจะเข้ามหาลัยเมื่อไหร่ คณะอะไร
เราก็จะได้ตั้งแผนการเรียนและระยะเวลาของเราได้ค่ะ
ต่อจากนั้นก็คงเป็นขั้นตอนจำศีลอ่านหนังสือค่ะ จูลี่ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ
(แบบจริงจัง) เป็นเวลาประมาณ 3-4 เดือนในการสอบค่ะ
จูลี่ว่าสิ่งที่สำคัญคือต้องมีวินัยกับตัวเอง ห้ามผลัดวันประกันพรุ่งค่ะ
ไม่งั้นจะดินพอกหางหมู และอ่านไม่ทันนะคะ นอกจากนั้นจูลี่ขอฟันธงค่ะว่า Practice makes
perfect จริงๆค่ะ ต้องทำโจทย์เยอะๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติค่ะ
เราต้องคิดบวกและเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ เพราะมันจะเพิ่มพลังให้เรา
ก็เหมือนกองทัพค่ะเวลาเราคิดบวกก็เหมือนเราปลุกใจพวกทหารในกองทัพ แต่ถ้าเราคิดในแง่ลบมันก็เหมือนทำร้ายทหารในกองทัพให้บาดเจ็บค่ะ
ช่วยเล่าถึงช่วงเวลาที่จะเลือกมหาวิทยาลัยหน่อยคะ
ว่าตอนนั้นมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่ จูลี่ อยากเข้ามากที่สุด และเพราะอะไร
ด้วยความโชคดีที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์มาจึงทำให้การแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในระบบอินเตอร์นั้นมีไม่สูงเท่าภาคปกติ
ตอนนั้นจูลี่สนใจอยากเข้าจุฬาหรือไม่ก็ธรรมศาสตร์ค่ะ ที่ธรรมศาสตร์คณะที่จูลี่สนใจก็มี Political Science เพราะว่าเป็นวิชาแนวที่จูลี่ชอบและ เรียน 5 ปีแล้วได้วุฒิปริญญาโทเลยค่ะ
ส่วนที่จุฬา คณะที่จูลี่สนใจก็มี BALAC หรือ อักษรศาสตร์ เพราะจูลี่ชอบภาษามากๆ และไม่ค่อยถนัดเลข
จูลี่ไม่ได้เรียนสายวิทย์ค่ะ นอกจากนั้นก็มี BSAC (Applied Chemistry) คณะวิทยาศาสตร์ค่ะ มันอาจจะฟังดูแปลกๆนะคะ
แต่สุดท้ายจูลี่ก็เลือกคณะวิทยาศาสตร์ค่ะ (งงมั้ยคะ หัวเราะ ) เพราะตอนนั้นจูลี่มีหลายเหตุผลค่ะ
เหตุผลข้อแรกก็คือ
จูลี่รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่แก่ลงทุกวัน และจูลี่ก็อยากดูแลท่านค่ะ เลยคิดจะเป็นหมอ
แต่เพราะเมืองไทยยังไม่มีหมออินเตอร์
และจูลี่ก็ยังไม่พร้อมที่จะไปเรียนต่อนอกเพราะยังเด็ก เลยทำให้จูลี่เรียนหมอไม่ได้
แต่จูลี่ก็คิดว่าถ้าจูลี่จบจากคณะวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะมีโอกาสไปต่อหมอทีหลังได้
เพราะหมอก็ต้องรับวุฒิวิทยาศาสตร์ก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถทำได้แล้วคือ
เรียนคณะวิทยาศาสตร์ภาคอินเตอร์ 4 ปี แล้วจึงไปเรียนต่อคณะแพทย์ฯ อีก 4 ปี
เหมือนที่เมืองนอก ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับน้องๆที่เรียนอินเตอร์
เหตุผลข้อที่สองคือ จูลี่ชอบความท้าทายค่ะ
ไม่ชอบทำอะไรง่ายๆมันน่าเบื่อสำหรับจูลี่ค่ะ
ก็เลยอยากลองเรียนอะไรใหม่ๆที่ท้าทายตัวเองค่ะ เหตุผลข้อสามก็คือ
จูลี่รู้สึกว่าการที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์ มันเปิดโอกาสให้เราสามารถต่อปริญญาโทได้หลากหลายคณะมากว่าคณะสายศิลป์ค่ะ
ก็เหมือนเด็กสายวิทย์สามารถเปลี่ยนไปเรียนสายศิลป์ได้
แต่เด็กสายศิลป์ไม่สามารถเปลี่ยนไปเรียนสายวิทย์ได้
จูลี่ก็เลยอยากเปิดโอกาสให้ตัวเอง
เพราะจริงๆตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าใจจริงเราอยากทำงานอะไรกันแน่
เหตุผลข้อสุดท้ายก็คือ จูลี่รู้สึกว่าคณะนี้น่าสนใจมากค่ะ เพราะมันมีสาขาย่อยเป็น
Industrial Chemistry ซึ่งเป็นการผสมผสานให้เด็กมีความรู้ด้านเคมี
และก็มีความรู้ในการบริหารธุรกิจด้วยค่ะ มันเป็นสึ่งที่สำคัญเพราะสมัยนี้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจก็สำคัญมากๆค่ะ
ด้วยเหตุผลทุกประการที่จูลี่ว่ามาเลยทำให้จูลี่เลือกคณะวิทยาศาสตร์ (อินเตอร์) หรือที่รู้จักกันว่า BSAC จุฬาค่ะ
ในช่วงปีแรกที่เข้าไปเรียน
เป็นอย่างไรบ้าง ต้องการปรับตัวมากน้อยแค่ไหนคะ
เข้าไปปีแรกก็หนักอยู่นะคะ ทุกๆวิชาเป็นวิชาที่จูลี่เพิ่งได้เรียน
แต่สำหรับคนอื่นๆพวกเขาพอมีพื้นฐานมาบ้าง เป็นอะไรที่ท้าทายดีค่ะ
เหมือนว่าจูลี่ต้องอ่านหนังสือสองเท่าของคนอื่นๆ แต่ยังไงก็ยังยืนยันนะคะว่า
ความพยายามอยู่ที่ใหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น และจูลี่ก็ผ่านเทอมหนึ่งมาได้โดยผ่านทุกวิชาและไม่มี
Drop หรือ ถอนวิชาเลยค่ะ
เรียนในคณะที่เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ....
เรามีความได้เปรียบเพื่อนจากโรงเรียนอื่นอย่างไรคะ
ปีแรกยังไม่ค่อยเห็นความได้เปรียบระหว่างเด็กที่มาจากอินเตอร์กับเด็กที่มาจากโรงเรียนไทยนะคะ
แต่พอปีสองขึ้นไปก็เริ่มเห็นค่ะ ว่าเด็กที่มี พื้นฐานภาษาอังกฤษดี จะสามารถอ่านหนังสือแล้วเข้าใจได้ดีกว่า
และแปลโจทย์ได้แตกฉานกว่า เพราะปีสองขึ้นไปมันจะเริ่มเป็นวิชาใหม่
ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยได้เรียนมาก่อน โดยชีทและ Textbookจะเป็นภาษาอังกฤษ เด็กที่คล่องภาษาอังกฤษมากกว่า จะอ่านแล้วเข้าใจ
ได้ไวกว่าค่ะ มีเพื่อนๆที่มาจากโรงเรียนไทยก็มาขอให้จูลี่ช่วยติวหนังสือให้อยู่เสมอค่ะ
นอกจากนั้นในปีหน้า
ประเทศไทยก็จะเปิดประเทศกับประเทศในกลุ่ม AEC ดังนั้นการที่เราถนัดภาษาอย่างน้อย 2 ภาษา ก็ยังทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการสื่อสารระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกอีกด้วย
ค่ะ
ในรั้วมหาวิทยาลัย เราต้องเจอผู้คนหลายรูปแบบ น้องจูลี่เข้าปี 1
เร็วกว่าเด็กทั่วไป
น้องจูลี่เจอปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่าคะ
ก็ได้เจอผู้คนหลากหลายรูปแบบค่ะ ก็ต้องใช้ Human relations skill เข้ากับพวกพี่ๆค่ะ เนื่องจากเรายังเด็กก็อาจจะมีบ้างที่พี่ๆจะไม่เชื่อเรา ก็ต้องมีวิธีพูดให้มันน่าเชื่อถือมากขึ้นค่ะ
ถามว่าเข้ากับพี่ๆได้ดีมั้ยก็เข้ากันได้ดีค่ะ แต่อาจจะไม่ได้สนิทสนมมากเนื่องจากอายุที่ห่างกัน
ก็อาจจะไม่ได้ไปเที่ยวกับพวกเขาบ้าง อย่างไรก็ตามในทุกๆที่ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ทุกคนชอบเราหรอกค่ะ
ก็ต้องมีทั้งคนที่ชอบเราและไม่ชอบเรา
จูลี่ก็ไม่ได้คิดมากตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดพอค่ะ
การเรียนในคณะนี้
เป็นอย่างไรบ้าง
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยเพื่อให้รุ่นน้องที่สนใจได้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ
BSAC ย่อมาจาก Bachelor of Science in Applied Chemistry ซึ่งจุฬาได้เปิด Applied Chemistry
เป็นที่แรกของประเทศไทย คณะนี้ก็เรียนสนุกดีค่ะ อาจารย์น่ารักทุกคนเลยค่ะ
(แต่ข้อสอบยากมาก) คณะของหนูจะมีสองสาขาย่อยด้วยกันค่ะ คือ Material
Chemistry และ Industrial Chemistry ค่ะ สาขา Material Chemistry ก็จะเป็นเรียนเกี่ยวกับเคมีล้วนๆ
ซึ่งจะเรียนเข้มข้นมากๆเหมาะสำหรับคน ที่อยากจะเรียนต่อสายวิทย์ค่ะ ส่วน Industrial Chemistry ก็จะเป็นการผสมผสาน ระหว่าง Business และ Chemistry ค่ะ
ซึ่งก็เหมาะกับคนที่คิดว่าอาจจะไปต่อโทสายบริหารหรือสายศิลป์ เช่น MBA ค่ะ
นอกจากเรื่องเรียนแล้ว
ได้ทำกิจกรรมอะไรในมหาวิทยาลัยบ้างคะ แล้วได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำกิจกรรมต่างๆ
หนูก็ทำกิจกรรมหลายอย่างมากค่ะตอนเข้าปีหนึ่งก็เล่นกีฬา
Freshyลงแข่งเปตองค่ะ นอกจากนั้นก็มีเข้าร่วม Cu-chorus และลงแข่งร้องเพลง Cu singing contest ค่ะ
ตอนปีสองปีสามก็ทำบ้านรับน้องแล้วก็ไปค่ายคณะค่ะ ส่วนปี4ก็ได้เป็นนิสิต 100 คนที่ได้เข้าร่วม Cu-Talent ค่ะ Cu-Talent เป็นโครงการของกิจการนิสิตโดยตรง มีวัตถุประสงค์หลักๆอยู่ 3 อย่างคือ
1.
สร้าง Network ระหว่างนิสิตต่างคณะ
2.
พัฒนา Soft Skill ต่างๆในตัวนิสิต (Leadership,
Teamwork, Presentation, Design thinking, และปลูกจิตสาธาราณะ)
3.
ให้นิสิตได้รู้จักองค์กรชั้นนำต่างๆเพื่อสร้าง
Job opportunities และได้ฟังประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูง
Cu-Talent เป็นโครงการที่ดีมากๆค่ะ
หนูรู้สึกว่าหนูได้พัฒนาตัวเองเยอะมากหลังจากที่ได้ร่วมโครงการนี้ ก็อยากชวนน้องๆให้เข้าร่วมค่ะต้องเป็นนิสิตปี 3 ขึ้นไปและมีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไปค่ะ เข้าจะคัดเลือกไป Interview อีกที โดยรวมสิ่งสำคัญที่หนูได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในสี่ปีที่อยู่จุฬาก็คือ
ได้รู้จักเพื่อนๆต่างคณะ ได้ประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งการเป็นผู้นำที่ดี
และผู้ตามที่ดี ฝึกการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
และการแก้ไขปัญหาค่ะ
สุดท้าย
อยากให้ฝากข้อคิดสั้นๆ ให้แก่รุ่นน้อง Heathfieldที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ
ก็อยากให้ยึดคติที่ว่า
“ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ค่ะ อยากให้น้องๆพยายามให้เต็มที่จะได้ไปถึงฝันของตัวเองและไม่เสียใจทีหลังค่ะ สำหรับน้องๆ Heathfield ที่อยากเข้าจุฬาก็ไว้เจอกันที่จุฬานะคะJ เพราะตอนนี้มีรุ่นน้องจาก Heathfield เข้ามาเรียนที่ จุฬา ค่อนข้างเยอะและเราก็ยังคงมีการพบปะ ติดต่อ
ช่วยเหลือกันอยู่เสมอ ทุกคนยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษาตลอดเวลา ค่ะ
Comments
Post a Comment